พายุไอทีลูกใหม่ ได้เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยีไอทีรูปแบบใหม่กำลังเคลื่อนตัวมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2553 นี้ ทิศทางที่เป็นโกลบอลเทรนด์จะกำหนดการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยด้วยจริงหรือไม่ สองยักษ์ใหญ่ไอทีอย่างเดลล์และเอชพีกำลังจับจ้องจุดเปลี่ยนครั้งนี้และมีการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับความต้องการใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องติดตามตลอดทั้งปี
"ถึงเวลาแล้วที่เทคโนโลยีรูปแบบใหม่จะได้รับการยอมรับจากตลาด"
เป็นคำกล่าวของ อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และว่า
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนสร้างความต้องการใหม่ๆ ให้กับตลาดทั่วโลก รวมถึงตลาดประเทศไทย คงจะหนีไม่พ้น 4 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องของเวอร์ชวลไลเซชั่น เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง เรื่องของสตอเรจ และเรื่องของไมเกรชั่น โดยเดลล์มองว่าคลาวด์คอมพิวติ้งจะเป็นสิ่งที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับไอทีให้ความสำคัญอย่างมากในปี 2553 นี้
เช่นเดียวกับเอชพีที่มองว่าโกลบอลเทรนด์ของปี 2553 นี้ ต้องยกให้กับคลาวด์คอมพิวติ้ง และเรื่องของดิจิตอลทรานสฟอร์เมชั่น
ทั้งนี้ การมาของเทคโนโลยีใหม่ในปี 2553 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ ที่วันนี้ยอมรับว่าไอทีเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ ไม่ว่าจะเป็นในยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู หรือในยุคที่เศรษฐกิจฝืด
ในภาวะปัจจุบันที่เป็นอยู่ทำให้บรรดาซีไอโอต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย และความซับซ้อน ในขณะที่ต้องรักษาระบบเดิมที่มีค่าใช้จ่ายแพงและขั้นตอนต่างๆ แต่ด้วยบริการไอทีใหม่ๆ จะช่วยยกระดับซอฟต์แวร์ในรูปแบบการบริการ เพื่อแก้ปัญหาหลักเกี่ยวกับการจัดการอุปกรณ์แบบต่างๆ การมอนิเตอร์โครงสร้างพื้นฐานจากระยะไกล และความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจและการทำระบบให้สอดรับกับนโยบาย ซึ่งแอปพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการจะช่วยองค์กรธุรกิจลดค่าใช้จ่ายในการครอบครองระบบโดยรวมของโครงสร้างพื้นฐานระบบไอที ด้วยจำนวนพนักงานน้อยลงในขณะที่สามารถลดความซับซ้อนของการปฏิบัติการได้
จากปัจจัยดังกล่าวความต้องการเทคโนโลยีคลาวด์น่าจะเกิดขึ้นในปี 2553 เนื่องจากแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ในรูปแบบการบริการแบบคลาวด์ออติไมซ์ใหม่จากเดลล์ มีการนำเสนอการทำระบบที่สามารถตั้งค่าได้ มีทางเลือกที่ปรับแต่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เพื่อให้สามารถติดตั้งระบบได้อย่างรวดเร็ว เพียงมีแอปพลิเคชั่นและการบริการการจัดการที่ธุรกิจต้องการเพื่อเป้าหมายในการสร้างไอทีเพื่อความสำเร็จทางธุรกิจ
ในการบริการเหล่านี้ช่วยรับรองการทำงานต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างอัตโนมัติ เช่น การจัดการระบบ การมอนิเตอร์จากระยะไกล และฟังก์ชั่นที่สนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนในการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที โดยบริการที่เกิดขึ้นได้รับการออกแบบเพื่อขจัดปัญหาเรื่องความท้าทาย
จากผลการสำรวจของเอชพีได้มีการบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารธุรกิจที่มีอำนาจในการตัดสินใจกว่าร้อยละ 90 เชื่อว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าทิศทางธุรกิจจะยังคงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก ส่งผลให้องค์กรธุรกิจร้อยละ 80 ยอมรับความจำเป็นในการยกระดับการเข้าถึงธุรกิจและเทคโนโลยี และคล่องตัวมากขึ้น
นอกจากความคล่องตัวแล้วผู้บริหารร้อยละ 84 ยังมีความเห็นว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร และร้อยละ 71 พร้อมอนุมัติการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยตอบสนองความต้องการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเร่งระยะเวลาในการทำตลาดขององค์กร
"เรามองว่าไอทีทำให้ธุรกิจฉลาดขึ้น" เบง เทค เลียง กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ บิสซิเนส บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
เมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ และองค์กรธุรกิจก็พร้อมที่จะลงทุนสำหรับไอทีรูปแบบใหม่ ทั้งเดลล์และเอชพีจึงได้มีการวางยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่จะเข้ามารองรับกับการให้บริการแบบโทเทิลโซลูชั่นที่เป็น end-to-end แบบครบวงจร
เอชพีนั้นมีไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจรที่พร้อมให้บริการแบบโทเทิลโซลูชั่น ที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างภายในด้วยการซินเนอยี่ภายในกลุ่มเอชพีเอนเตอร์ไพรส์บิสซิเนสให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อทำให้สามารถตอบสนององค์กรธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ บริการและโซลูชั่นของเอชพีนั้น คือการมีทิศทางที่ชัดเจนที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการแข่งขัน และลดความเสี่ยงด้วยการบริหารจัดการข้อมูลทางธุรกิจ การกำกับดูแลข้อมูล และการวิเคราะห์ธุรกิจ โดยมีนวัตกรรมที่เอชพีจะเร่งระยะเวลานำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ออกสู่ตลาดให้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดต้นทุนที่เกิดจากการสูญเสียเวลา โอกาส และความพยายามอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาเฉพาะทางได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ในด้านความยืดหยุ่น เอชพีสามารถปรับคืนสู่สมรรถนะการทำงานสูงสุดโดยใช้ระบบโครงการพื้นฐานแบบผนวก หลังจากมีการลดหรือขยายขั้นตอนการดำเนินงาน
โทเทิลโซลูชั่นลีดเดอร์ชิป
เป้าสำคัญของ "เดลล์"
เดลล์มีเป้าหมายใหญ่ที่จะเปลี่ยนตัวเองจากฮาร์ดแวร์ลีดเดอร์ชิปมาสู่โทเทิลโซลูชั่นลีดเดอร์ชิป ซึ่งในช่วงปี 2552 ที่ผ่านมาเดลล์มีการปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่ในลักษณะของทรานสฟอร์เมชั่นด้วยการปรับรูปแบบการทำงานในลักษณะของโกลบอลสตรักเจอร์ ในการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เดลล์สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ กลุ่มเอสเอ็มบี กลุ่มพับลิกเซกเตอร์ และกลุ่มคอนซูเมอร์
และจากการเดลล์มองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านหลักนั้น เดลล์มีผลิตภัณฑ์และบริการในลักษณะเช่นเดียวกับเอชพีที่เรียกว่าโทเทิลโซลูชั่น ซึ่งพร้อมที่จะนำเสนอบิสซิเนสแอปพลิเคชั่นให้ทันกับความต้องการของตลาด โดยมีอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ รองรับไว้อย่างครบครัน
อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ของทั้งเดลล์และเอชพี คือทำอย่างไรให้องค์กรธุรกิจตัดสินใจที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนไอทีที่มากขึ้น เนื่องจากทุกองค์กรธุรกิจต่างๆ ลดเงินลงทุนไอทีใหม่ๆ แต่เน้นสัดส่วนงบประมาณไปที่การดูแลจัดการระบบไอทีเดิมมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากองค์กรธุรกิจตัดสินใจลงทุนไอทีใหม่ ในระยะยาวแล้วจะคุ้มค่ามากกว่าที่จะดูแลระบบไอทีแบบเดิมๆ ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ที่สำคัญไอทีรูปแบบใหม่ช่วยให้ธุรกิจสร้างแต้มต่อสำหรับการแข่งขันได้ดีกว่าแบบเดิมด้วย
"เราต้องแสดงให้ธุรกิจเห็นว่าการลงทุนเทคโนโลยีไอทีใหม่คุ้มค่าจริงๆ" อโณทัย กล่าวและว่า "ความเชื่อของค่ายไอทีวันนี้เชื่อว่าปี 2553 น่าจะเป็นปีที่ดีที่ตลาดไอทีจะโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้เกิดการซื้อบริการมากยิ่งขึ้นกว่าช่วงปี 2552 ที่ผ่านมา"
นายรักคุด 122
0 ความคิดเห็น: to “ พายุไอทีลูกใหม่ ได้เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ”
แสดงความคิดเห็น