Search this blog


Home About Contact
สนับสนุนโดย อ.บุญญลักษม์ ผู้จัดทำ อนุชิต112 สิชล113 พงษ์พัฒน์122 เขตโสภณ138 ศุภสิน141 อังกฤษ167 พิชิต189
วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553

10 เทรนด์ไอทีปี 2010  

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่จะถูกหยิบยกมาพูดถึงในบทความนี้ไม่ใช่ Fash หรือแฟชั่นไอทีที่มาแล้วก็ไป แต่จะเป็น Trend ว่าทิศทางไอทีใดบ้างที่ผู้บริโภคจะได้เห็นในปี 2010 ซึ่งจากการประมวลแล้วพบว่าเทรนด์ที่รวบรวมมาได้นั้นสอดคล้องกันทั้งหมด และมีแนวโน้มว่าสงครามไอทีปีเสือจะดุเดือดมากขึ้น จนเชื่อว่าจะทำให้ตลาดไอทีโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบมโหฬาร

คำถามว่า ปี 2010 ยูสเซอร์จะต้องพบเจออะไรบ้าง หนึ่งหนีไม่พ้น"คลื่นเน็ตบุ๊ก"ในทะเลพีซีที่เชื่อว่ายังไม่ตายง่ายๆ สองคือ"พายุแทปเล็ต"พีซีหน้าจอสัมผัสไร้คีย์บอร์ดที่ถูกมองว่าจะเป็นดาวรุ่ง พุ่งแรงแซงใครๆ สามคือ"กระแสเครื่องอ่านอีบุ๊ก"ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะโลกกระดาษนั้นเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกดิจิตอลแล้ว สี่คือ"มนต์สะกดวินโดวส์ 7 และออฟฟิศ 2010" จากไมโครซอฟท์ที่เชื่อว่าจะสามารถสะกดคนทั้งโลกได้มากขึ้น

ห้าคือ"อาณาจักรทีวีเจนใหม่"ที่กล้าติดชิปคอมพิวเตอร์ไว้ภายใน บนเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าทีวีจะแฮงก์เหมือนคอมพิวเตอร์ หกคือ"อหังการเครือข่ายสังคม"ซึ่งทุกสำนักฟันธงว่าโซเชีย ลเน็ตเวิร์กกิงในปีหน้าจะเติบโตขึ้นอีก

เจ็ดคือ"ทอร์นาโดไฮสปีด"เชื่อว่าผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วในปี 2010 ซึ่งเท่ากับผู้ใช้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้นด้วย แปดคือ"สมาร์ทโฟนคำราม"เพราะเสียงคำรามกู่ร้องในสนามรบระหว่างไอโฟน-แบล็กเบอรี่-แอนดรอยด์ในปี 2010 จะดังกึกก้องจนสะเทือนไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ที่เก้าและสิบนั้นต้องบอกว่า"ยังไม่กล้าฟันธง" ได้แก่ "ทรีจี-ไวแมกซ์"ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างไรในประเทศไทย รวมถึง"โลกใหม่เอ็มคอมเมิร์ซ"ที่จะยังต้องรอความชัดเจนอยู่

*****1. คลื่นเน็ตบุ๊กยังซัด

ปีที่ผ่านมาคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊กหรือพีซีพกพาตัวเล็กราคาประหยัด สามารถเติบโตได้เพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปี 2010 ตลาดเน็ตบุ๊กก็จะยังเติบโตอยู่ แต่อาจไม่โตอู้ฟู้เพราะมีคู่แข่ง

สิ่งที่ชี้ว่าเน็ตบุ๊กจะยังเติบโตต่อไปคือการที่อินเทลเปิดตัวชิป Atom รุ่นใหม่นาม n450 ทำให้เน็ตบุ๊กมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถรองรับภาพยนตร์ความละเอียดสูงหรือ HD ได้แต่ยังไม่เต็มขั้น มีขนาดบางลง ในราคาสบายกระเป๋า แต่สิ่งที่ชี้ว่าคลื่นเน็ตบุ๊กจะไม่ซัดแรงจนเติบโตอู้ฟู้คืออินเทลนั้นระบุ ว่า ชิป n450 นั้นไม่ได้ผลิตมาสำหรับเน็ตบุ๊กอย่างเดียว แต่สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปอื่นๆได้ด้วย ทำให้แล็ปท็อปรุ่นอื่นสามารถหั่นราคาลงเพื่อแข่งกับเน็ตบุ๊กได้อย่างถึงพริก ถึงขิง

สำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ประหยัดพลังงานพิเศษหรือ CULV เชื่อว่าจะเติบโตไม่รุนแรงในปี 2010 เพราะผู้ผลิตพีซีจะกดราคาเน็ตบุ๊กลงมาแย่งตลาด โดย CULV อาจครองส่วนแบ่งได้ 30% ในปีเสือ

อีกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีเสือ คือผู้บริโภคจะสับสนเรื่องสายผลิตภัณฑ์พีซีพกพามากขึ้นอีก เนื่องจากการกำเนิดของ"สมาร์ทบุ๊ก (Smartbook)" คอมพิวเตอร์ตัวเล็กเท่าเน็ตบุ๊ก (หน้าจอไม่เกิน 10 นิ้ว) แต่ใช้ชิป ARM ซึ่งนิยมใช้ในสมาร์ทโฟน รองรับไว-ไฟและ3G ต่ออินเทอร์เน็ตได้ บนราคาที่ถูกกว่าเน็ตบุ๊ก

สรุปแล้ว จากภาพที่มองว่าเน็ตบุ๊กใกล้จะสิ้นชีพในปีนี้ แท้จริงแล้วยังไม่แน่นอน เพราะต้องลุ้นผลการต่อสู้ระหว่างเน็ตบุ๊กกับโน้ตบุ๊ก CULV สมาร์ทบุ๊ก สมาร์ทโฟน และที่สำคัญคือ คอมพิวเตอร์แทปเล็ตที่เชื่อว่าจะเป็นกระแสแรงมากในปี 2010

****2. พายุแทปเล็ต

แทปเล็ตพีซีคือคอมพิวเตอร์พกพาที่หักฝาพับหน้าจอออกไป แล้วนำหน้าจอสัมผัสมาติดไว้ที่แทนคีย์บอร์ด น้ำหนักเบา หน้าจอราว 7-10 นิ้ว ขณะนี้สินค้ากลุ่มแทปเล็ตพีซีเริ่มออกมาวางจำหน่ายอย่างจริงจังแล้ว และได้รับกระแสตอบรับมากมาย

ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าพีซีพกพาแต่ละชนิดจะโรมรันแข่งขันอย่างหนักในปี 2010 แต่ประเด็นที่จะยังเป็นคำถามสำหรับแทปเล็ตพีซีคือความเชื่อว่า ผู้บริโภคยังไม่ต้องการแทปเล็ตพีซี เพราะประสิทธิภาพที่ไม่หนีจาก CULV เครื่องอ่านอีบุ๊ก และเน็ตบุ๊ก แถมราคาก็ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันไม่ได้

****3. กระแสเครื่องอ่านอีบุ๊ก

ปี 2010 ถูกมองว่าจะเป็นปีแห่งสงครามดิสเพลย์ หนึ่งในผู้ร่วมชิงชัยคือเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออีรีดเดอร์ (eReader) เชื่อว่ายอดขายอีรีดเดอร์จะทะลุ 6 ล้านเครื่องในปี 2010 บนฝีมือการผลิตของบริษัทไม่ต่ำกว่า 30 แบรนด์ แต่ละแบรนด์มีจำนวนมากกว่า 1 รุ่น

จุดเด่นของอีรีดเดอร์นั้นอยู่ที่การประหยัดพลังงาน เหมาะกับการแสดงผลตำรา อ่านง่าย รองรับไฟล์เอกสารได้หลากหลาย ล่าสุด มีรายงานว่าโรงงานผลิตหน้าจอในประเทศไต้หวันลงมือผลิตจออีอิงค์ชนิดใหม่ที่ มีราคาถูกลง ทำให้เชื่อว่าอุปกรณ์อีรีดเดอร์ทั้งหลายจะมีราคา 99 เหรียญในปีหน้า จากที่ปัจจุบันมีราคาราว 259 เหรียญ

อย่างไรก็ตาม อีรีดเดอร์นั้นมีความสามารถที่จำกัด ค้านกับคำพูดของเจ้าพ่อสตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอแอปเปิลที่บอกว่าอุปกรณ์ไอทีต้องทำได้หลายอย่าง ทำให้อนาคตของอีรีดเดอร์ยังมีภาพหมอกปกคลุมอยู่ แถมยังมีข้อจำกัดเรื่องการเปลี่ยนหน้าช้า และยังไม่มีจุดขายที่แข็งพอจะสู้กับคู่แข่งรายอื่นในสงครามดิสเพลย์ ซึ่งยังต้องรอลุ้นว่าอีรีดเดอร์จะแจ้งเกิดได้ในปี 2010 หรือไม่

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของอีรีดเดอร์คือการรวมอีรีดเดอร์และแทปเล็ตพีซี ไว้ด้วยกัน ออกมาในรูปอีรีดเดอร์จอสี 2 จอ หนึ่งในสองจอสามารถต่ออินเทอร์เนตเพื่อเลือกไฟล์อีบุ๊ก

นอกจากนี้ กระแสอีรีดเดอร์ยังปรากฏในอุปกรณ์อื่นๆด้วย นั่นคือโปรแกรมอีรีดเดอร์บนอุปกรณ์พกพาที่ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดไปติดตั้งได้ เช่น โปรแกรมคินเดิลฟอร์ไอโฟน เป็นต้น ซึ่งเมื่อสังเกตให้ดีจะพบว่าแพลตฟอร์มอุปกรณ์ แอปพลิเคชัน และอินฟราสตรัคเจอร์ คือพื้นฐานที่สอดคล้องกันของ Gadget ในปี 2010

****4. มนต์สะกดวินโดวส์เซเว่น

สำนักวิจัยไอดีซีเชื่อว่าปี 2010 ผู้ใช้วินโดวส์เซเว่นจะเติบโตรวดเร็วมากจนมีสัดส่วน 50% เมื่อเทียบกับผู้ใช้ทั่วโลก วินโดวส์เซเว่นจึงเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่จะมาแน่นอนในปี 2010

แม้จะมีการใช้งานวินโดวส์เซเว่นแพร่หลาย แต่ปี 2010 จะเป็นปีที่หลายบริษัทพร้อมใจกันออกบริการคลาวด์คอมพิวติง ที่มีแนวคิดหลักว่าผู้ใช้จะเก็บข้อมูลไว้ที่ใดก็ได้ ใช้ข้อมูลได้ไม่สิ้นสุด และสามารถเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา ปี 2010 จึงเชื่อว่าพฤติกรรมการใช้ซอฟต์แวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนแปลงชัดเจนยิ่งขึ้นในปีนี้ จากการติดตั้งซอฟต์แวร์ลงในเครื่อง มาเป็นการเรียกใช้ซอฟต์แวร์จากอินเทอร์เน็ตแทน

ไมโครซอฟท์จึงต้องรับศึกการต่อสู้ระหว่างโลกเดสก์ท็อปและโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยการเปิดตัวบริการ Azure (อะซัวร์) บริการคลาวด์คอมพิวติงที่อาจจะร่วมเป็นอีกแรงสะกดผู้บริโภคในปี 2010

คู่ต่อสู้ตัวแม่ของไมโครซอฟท์ในปีนี้หนีไม่พ้นกูเกิล ที่กำลังจะเปิดตัวระบบปฏิบัติการออนไลน์ของตัวเองในชื่อ ChromeOS กูเกิลระบุว่าโอเอสของตัวเองสามารถทำงานได้ดีบนคอมพิวเตอร์พกพาทั้งเน็ตบุ๊ก และแทปเล็ตพีซี เท่ากับกูเกิลขอมีเอี่ยวในกระแสคอมพ์พกพาที่เชื่อว่าจะเชี่ยวกรากในปี 2010 อย่างเต็มตัว

กูเกิลมองว่าผู้ใช้แล็ปท็อป จะกลายพันธุ์เป็นผู้ใช้เน็ตบุ๊ก ขณะที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะกลายเป็นผู้ใช้แทปเล็ตพีซี

****5. อาณาจักรทีวีอินเทอร์เน็ต

ตลาดทีวีอินเทอร์เน็ตในปี 2010 เชื่อว่าจะมีความคึกคักสุดขีด เพราะนอกจากความสะดวกสบายจากการเล่นอินเทอร์เน็ตบนทีวีจอยักษ์ การตอบโจทย์เรื่องข่าวอัปเดทล่าสุดจากสถานีข่าวในประเทศไทย (เนชันจับมือกับซัมซุง) วิดเจ็ทสารพัดประโยชน์บนหน้าจอทีวี และตัวคอนเทนท์วิดีโอบนอินเทอร์เน็ตในขณะนี้ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายไม่ต่างจากคอนเทนท์บนทีวี ล้วนเสริมบารมีให้ทีวีอินเทอร์เน็ตเติบโตในปี 2010 อย่างต่อเนื่อง

อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับทีวี 3 มิติอย่างแว่นตาก็เชื่อว่าจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปี 2010 ซึ่งล่าสุดมีการผลิตแว่นตา 3 มิติแบบไฟฟ้าด้วย คุณสมบัติคือการปรับเป็นภาพ 3 มิติให้อัตโนมัติ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้มากกว่าแบบไร้ไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องปรับสายตาเอง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการเปิดตัวทีวี 3 มิติเพื่อเร่งทำตลาดในปี 2010 ของค่ายปลาดิบเช่น พานาโซนิก และโซนี่ ขณะที่ผู้ผลิตฝั่งเกาหลีระบุว่าจะมุ่งพัฒนาระบบกระจายสัญญาณภาพโทรทัศน์ 3 มิติเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับอรรถรสสมจริงจากจอแก้วที่บ้าน

****6. อหังการเครือข่ายสังคม

เมื่อทุกอุปกรณ์ไอทีในปี 2010 ล้วนมีฟังก์ชันเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยืนพื้น การขยายตัวของโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเครือข่ายสังคมจึงเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น เพราะเมื่ออินเทอร์เน็ตพร้อมเท่าไหร่ ผู้บริโภคก็พร้อมจะอัปเดทคอนเทนท์บนโซเชียลเน็ตเวิร์กมากเท่านั้น

ที่สำคัญ คอนเทนท์ที่เติบโตรวดเร็วจะมีผลต่อเสิร์ชเอนจิ้นหรือระบบค้นหาข้อมูลออนไลน์ในปี 2010 ด้วย เนื่องจากเสิร์ชเอนจินรายใหญ่อย่างกูเกิลและบิง ประกาศจับมือกับเครือข่ายสังคมทั้งเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์เพื่อให้ชาวออนไลน์สามารถเสิร์ชพบข้อมูลอัปเดทนาทีต่อนาทีในเครือข่ายสังคมได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรียลไทม์เสิร์ชในอนาคต

นอกจากเรียลไทม์เสิร์ช เชื่อว่าเครือข่ายสังคมจะให้กำเนิดตลาด"เรียลไทม์ช็อปปิ้ง" ในปี 2010 ด้วย เช่น การขายของผ่านทวิตเตอร์ ซึ่งผู้ใช้สามารถซื้อได้เลยขณะโฟลโลว์ เป็นต้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้เฟสบุ๊กทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน และผู้ใช้ทวิตเตอร์ 30,000 คน คาดว่าจะมีการเติบโตราว 3 เท่าตัวในปี 2010

****7. ทอร์นาโดไฮสปีด

ทิศทางอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นมาแรงมากในปี 2010 สถิติผู้ใช้ในประเทศไทยบรอดแบนด์ขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 2 ล้านรายแล้ว คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวเกิน 3 ล้านรายในไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงสุดในประเทศไทยขณะนี้คือ 30Mbps

เมื่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแพร่หลาย สิ่งที่จะเกิดคือความนิยมเรื่องไฟล์แชร์ริ่ง โดยเฉพาะการโหลดบิต ขณะเดียวกัน ภัยออนไลน์ทั้งภัยบ็อตเน็ตและหนอนคอมพิวเตอร์ก็จะหนักขึ้นด้วย โดยในปี 2010 เชื่อกันว่าโปรแกรมให้ผู้บริโภคสร้างมัลแวร์เองจะได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงภัยเมลหลอกลวงให้ช่วยเหลือสังคม และภัยคุกคามบนอุปกรณ์เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ เช่น ไอโฟน ก็เชื่อว่าจะมีความเสียหายหนักกว่าเดิม

โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะช่วยกระตุ้นตลาดสมาร์ทโฟนทั้งแอนดรอยด์ และไอโฟน แต่ก็จะกระตุ้นให้มีการขโมยทรัพยากรเครือข่ายมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ไวรัสบนเครือข่าย, ไวรัสบนวินโดวส์เซเว่น และไวรัสบนแมคอินทอชก็คาดว่าจะวาดลวดลายหนักข้อขึ้นในปี 2010

****8. สมาร์ทโฟนคำราม

เชื่อขนมกินได้เลยว่าสมาร์ทโฟนในปี 2010 จะแข่งขันดุเดือดกว่าทุกปีที่เป็นมา มีการคำนวณว่าสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ไม่ต่ำกว่า 50 เครื่องจะพากันแจ้งเกิดในปี 2010 พร้อมกับมีข่าวลือว่าไอโฟนรุ่น 4G จะแจ้งเกิดในเดือนกรกฏาคม 2010 โดยปรับให้มีกล้องดิจิตอลด้านหน้า พร้อมหน้าจอสว่างกว่าเดิม กล้อง 5.2 ล้านพิกเซล รองรับบลูทูธ

คำถามที่เกิดขึ้นคือเมื่อแอนดรอยด์และไอโฟนมาแรง ยักษ์ใหญ่โนเกียจะออกหัวก้อยอย่างไรต่อไป เป็นอีกเรื่องที่โลกต้องลุ้นกันในปี 2010 ขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ก็ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่าวินโดวส์โมบายล์ 7 จะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 ปี 2010 ความล่าช้าที่เกิดขึ้นย่อมมีผลต่อการทำตลาดของไมโครซอฟท์ด้วย

ในส่วนของตลาดแอปพลิเคชัน ตลาดแอนดรอยด์ถูกประเมินว่าจะมี 80,000 แอปพลิเคชันในปี 2010 จาก 20,000 แอปพลิเคชันในปี 2009 เทียบกับไอโฟนที่มีอยู่แล้วเกิน 100,000 แอปพลิเคชัน

บริษัทวิจัยตลาดประเมินกันว่าสมาร์ทโฟนจะมีสัดส่วนตลาดราว 38% ของตลาดรวมโทรศัพท์มือถือในปี 2013 เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2009

***9. Real 3G ยังไม่เห็น

ขณะนี้ ผู้บริโภคชาวไทยบางส่วนเริ่มได้เห็นบริการอินเทอร์เน็ต 3G จากโอเปอเรเตอร์บางค่ายแล้ว คาดว่าจะได้เห็นบริการเพิ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2010 อย่างไรก็ตาม บริการประเภท Real 3G หรือบริการ 3G แบบของแท้บนคลื่นความถี่ 2100 MHz นั้นจะเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ทันปลายปี 2010 แน่นอน เนื่องจากโอเปอเรเตอร์จะต้องใช้เวลาติดตั้งระบบอย่างน้อย 6 เดือนหลังได้รับใบอนุญาตหรือไลเซนส์ 3G ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงกำหนดการอนุมัติไลเซนส์อย่างเป็นทางการ

****10. โลกใหม่เอ็มคอมเมิร์ซ

เอ็มคอมเมิร์ซ หรือ M-Banking บริการการเงินบนโทรศัพท์มือถือนั้นถูกมองว่าเป็นเทรนด์แรงของโลกในทุกๆปี แต่กลับไม่มีอิทธิพลเท่าที่ควรในประเทศไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ทุกธนาคารจะมีให้บริการแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่เสมอคือความมั่นใจผู้บริโภค และพฤติกรรมการซื้อของคนไทยที่ไม่เอื้ออำนวย

ฉะนั้น ความชัดเจนว่ากระแสอินเทอร์เน็ตร้อนแรงในปี 2010 จะช่วยกระตุ้นให้บริการการเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เติบโตยิ่งขึ้น จึงถูกสั่นคลอนเพราะความไม่มั่นใจของผู้บริโภค เอ็มคอมเมิร์ซในปีนี้จึงยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่าจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใด

**********

10 เทรนด์ไอทีนี้รวบรวมโดย "ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช" รองผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายนิวมีเดีย บริษัท เอ.อาร์.อินฟอร์เมชัน แอนด์ พับลิเคชัน จำกัด (ARiP) ผู้จัดงานคอมมาร์ท (Commart) ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี

ประสิทธิ์บอกว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไอทีประเทศไทยในปี 2010 จะเปลี่ยนมาเป็นการพิจารณา 3 ส่วนหลักก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ได้แก่ "แฟชั่น ฟังก์ชัน และราคา" ผลคือผู้ค้าในตลาดไอทีก็จะแข่งขันกันใน 3 เรื่องหลักตลอดปี 2010




นายรักคุด 122

What next?

You can also bookmark this post using your favorite bookmarking service:

Related Posts by Categories