แกะรอย "ศูนย์ไอซีทีชุมชน" เส้นทางสร้างคน สร้างโอกาส
หากจะพูดถึงผลงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) "ศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน" ถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวง ในการตอบโจทย์การลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน เพื่อให้เกิดการความเท่าเทียมในการแสวงหาความรู้ของประชาชนในทุกพื้นที่
และเมื่อเอ่ยถึงศูนย์ไอซีทีชุมชน คน ทั่ว ๆ ไป มักจะนึกถึงภาพของศูนย์รวมของคอมพิวเตอร์ที่ตั้ง ๆ ให้ใช้งาน ไม่แตกต่างจากร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่เปิดอยู่ทั่วทุกจังหวัด แต่ในความเป็นจริงแล้วภายในศูนย์มีเรื่องราวมากมายกว่านั้น
"สือ ล้ออุทัย" ปลัดกระทรวงไอซีที ถ่ายทอดความประทับใจจากการเดินสายเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนมาแล้วทุกจังหวัดทั่วประเทศว่า แม้หลาย ๆ ที่จะต้องนั่งรถไปไกล แต่ก็ได้ผลตอบแทนเป็นรอยยิ้มของชาวบ้านที่มาร่วมพิธีเปิด
"ยังจำไม่ลืมในหลาย ๆ ที่ อย่าง ร้อยเอ็ด สงขลา เห็นแล้วชื่นใจ ชาวบ้านยิ้มแย้มมีความสุขมากที่จะได้มีคอมพิวเตอร์มีอินเทอร์เน็ตไว้ใช้ แล้วไม่ใช่แค่เด็ก ๆ แม้แต่ผู้ใหญ่ที่สูงวัยหน่อยก็เช่นกัน ดูสีหน้าแววตาแล้วรู้เลยว่า
มาจากใจไม่ใช่ถูกเกณฑ์มา อย่างบางคนก็มาเล่าให้ฟังว่า ทำงานฝีมือค้าขายเป็นอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ปกติติดต่อลูกค้าทางอีเมล์ตอนไม่มีศูนย์ไอซีทีต้องนั่งรถเข้าไปตัวอำเภอทุกอาทิตย์ เพื่อไปร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มีศูนย์มาเปิดก็ดีใจ สะดวกขึ้นเยอะ"
ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2550 ปัจจุบันกระทรวงมีศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนอยู่ครบทุกจังหวัด รวมแล้ว 277 แห่ง ทั่วประเทศ และในปีงบประมาณ 2553 กระทรวงได้แปลงงบประมาณที่เหลือจากการจัดซื้อสมาร์ตการ์ด นำมาเปิดไอซีทีชุมชนอีก 600 แห่ง เพื่อกระจายลงไปถึงทุกอำเภอ โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชน
"ตอนแรกก็คิดไม่ถึงว่า ชาวบ้านจะเอาศูนย์นี้ไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย แรก ๆ คิดว่าเป็นการช่วยเด็ก ๆ นักเรียนนักศึกษาในการแสวงหาความรู้ ให้เป็นที่ค้นข้อมูล พิมพ์รายงานตามที่คุณครูสั่งเท่านั้น แต่ปรากฏว่าคนในชุมชนนำไปพัฒนาต่อยอดได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่เรื่องเรียน แต่ทั้งการเกษตร อาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต"
ตัวอย่างของการนำศูนย์ไอซีทีฯ ไป ต่อยอดภายในชุมชน มีทั้งการใช้อุปกรณ์และสถานที่ของศูนย์ เพื่อฝึกอบรมความรู้ด้านไอทีให้กับผู้สนใจในชุมชน ซึ่งเป็น 1 ในเงื่อนไขที่กระทรวงกำหนดขึ้นให้กับทุกศูนย์ ที่จะต้องจัดฝึกอบรมให้กับคนในชุมชนอย่างน้อย 5 เท่าของจำนวนเครื่องที่ได้รับ
"เบื้องต้นศูนย์จะอบรมการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตให้กับคนในชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจมากจากทุกเพศทุกวัย และในแต่ละศูนย์ก็จะมีการเปิดหลักสูตรอบรมต่าง ๆ เพิ่มตามความต้องการของคนในชุมชน"
นอกจากนี้ทุกศูนย์ยังมีการทำเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภายในชุมชน รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการต่อยอดทำธุรกิจของคนในชุมชน ทั้งการผลิตสินค้าแล้วนำไปขายบนเว็บไซต์ กลายเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่างชุมชนของวัดโพธิ์การาม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ที่มีเจ้าอาวาสวัดเป็นผู้นำ มีการรวมกลุ่มกันผลิตงานหัตถกรรม อาทิ พวงกุญแจ ของที่ระลึกที่ราคาไม่แพง แล้วโพสต์ขายบนเว็บไซต์ชุมชน จนมีลูกค้าจากทั้งญี่ปุ่น อิสราเอล มาสั่งผลิตจนคิวงานเต็มทั้งปี ผลิตกันไม่ค่อยทัน
หรือการเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยว และโฮมสเตย์ของคนในชุมชนที่อำนาจเจริญ ที่ใช้กิจกรรมจักรยานเสือภูเขา เน้นการ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยาเป็นจุดเด่น ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นชาวต่างประเทศที่นิยมหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ก็สามารถสร้างชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ทำธุรกิจท่องเที่ยวเล็ก ๆ ได้
แม้แต่การใช้เพื่อหาความรู้จากโลก ออนไลน์ธรรมดา ๆ ก็ช่วยพัฒนาต่อยอดการทำงานของคนในชุมชนได้ ทั้งเกษตรกรที่สามารถเข้าไปค้นข้อมูลเพื่อพัฒนาการเพาะปลูก จากเว็บไซต์กระทรวงเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ฯลฯ หรืออย่างชุมชนใน จ.สตูล ก็ได้เรียนรู้เทรนด์แฟชั่นเครื่องประดับไข่มุก จากเว็บไซต์ต่าง ๆ นำไปพัฒนารูปแบบการผลิตของชาวบ้านให้ถูกใจตลาดมากขึ้น
ปลัดกระทรวงไอซีทีกล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้การกระจายศูนย์ไปทุกตำบลไม่ได้อย่างใจคิด เพราะคนส่วนใหญ่คิด ว่ากระทรวงจะให้ฟรีทุกอย่าง แต่ด้วย งบประมาณจำกัด และความต้องการให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการดูแล เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ โครงการนี้จึงกำหนดให้ชุมชนที่จะเป็นที่ตั้งศูนย์ ต้องรับภาระค่าไฟฟ้าของศูนย์ด้วย และหลังจากครบกำหนดเข้าร่วมโครงการ 1 ปี จะต้องรับภาระค่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและค่าบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ด้วย จึงทำให้หลายชุมชนลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ
นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ปลัดไอซีทีลงพื้นที่เปิดศูนย์ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อปลัดกระทรวงไป ผู้หลักผู้ใหญ่ในท้องถิ่นก็จะมาร่วมงาน ทำให้ได้ทราบปัญหา และยินดีช่วยสนับสนุนงบประมาณให้กับชุมชน เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีเพียงเล็กน้อย ทางองค์การ บริหารส่วนท้องถิ่น อย่าง อบจ. อบต. หรือแม้แต่จังหวัด มีงบประมาณเพียงพอที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว
"โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงกับชุมชน เราไม่ได้แค่นำคอมพิวเตอร์ไปให้อย่างเดียว ทางชุมชนต้องกระตือรือร้นในการเตรียมสถานที่ให้พร้อม หาคนมาดูแลบริหารศูนย์ให้ได้ก่อน เราถึงเข้าไปประเมินความพร้อม เพื่อพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เพราะไม่ต้องการให้ศูนย์เป็นแค่การนำเครื่องไปตั้งทิ้งไว้ แต่ต้องการให้โครงการยั่งยืน สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในปีต่อ ๆ ไป"
และหลังจากผ่านการประเมินแล้ว ผู้ที่ดูแลศูนย์ก็ต้องเข้าอบรมเสริมความรู้กับกระทรวงทุกปี เข้าร่วมเป็นเครือข่ายผู้ดูแลศูนย์ที่พร้อมจะช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาซึ่งกันและกันตลอดเวลา รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลบริหารศูนย์ ทำให้เกิดกิจกรรมหรือโครงการใหม่ ๆ ต่อยอดขึ้นไปอีก ซึ่งเครือข่ายนี้ ปัจจุบันมีบุคลากรที่มีความสามารถทั้งด้านเทคนิค การพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ กลายเป็นผลพลอยได้อีกอย่างของโครงการ
"อย่างศูนย์กว่า 60 แห่งที่เข้าร่วมโครงการครบ 1 ปีแล้ว ก็สามารถดูแลตัวเอง อาจมีการเก็บค่าบริการเล็กน้อย ชั่วโมงละ 5 บาท เป็นค่าบำรุงศูนย์"
ความสำเร็จของโครงการนี้ยืนยันได้จากการที่แต่ละปีมีหน่วยงานทั่วโลกติดต่อขอลงพื้นที่ดูงาน รวมถึงจากสหประชาชาติด้วย
ศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน จึงไม่ใช่แค่ห้องตั้งคอมพิวเตอร์อีกต่อไป แต่เป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นแหล่งสร้างคน สร้างชาติอย่างแท้จริง
นายรักคุด 122
0 ความคิดเห็น: to “ แกะรอย "ศูนย์ไอซีทีชุมชน" เส้นทางสร้างคน สร้างโอกาส ”
แสดงความคิดเห็น